เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [5.ปาฏิเทสนียกัณฑ์] ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ 1 พระอนุบัญญัติ
พระบัญญัติ
ก็ภิกษุณีใดออกปากขอเนยใสมาฉัน ภิกษุณีนั้นพึงแสดงคืนว่า “แม่เจ้า
ดิฉันต้องธรรมคือปาฏิเทสนียะเป็นธรรมที่น่าติเตียน ไม่เป็นสัปปายะ ดิฉันขอ
แสดงคืนธรรมนั้น”
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

เรื่องภิกษุณีเป็นไข้
[1229] สมัยนั้น ภิกษุณีทั้งหลายเป็นไข้ พวกภิกษุณีผู้ถามอาการไข้ได้กล่าว
กับภิกษุณีเหล่านั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้า พวกท่านยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ”
พวกภิกษุณีผู้เป็นไข้กล่าวว่า “แม่เจ้า เมื่อก่อนพวกดิฉันออกปากขอเนยใสมา
ฉันได้ เพราะเหตุนั้น พวกดิฉันจึงมีความผาสุก แต่บัดนี้พวกดิฉันยำเกรงอยู่ว่า
พระผู้มีพระภาคทรงห้าม จึงไม่กล้าออกปากขอ เพราะเหตุนั้นจึงไม่มีความผาสุก”
ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ

ทรงอนุญาตเนยใส
พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุณีผู้เป็นไข้
ออกปากขอเนยใสมาฉันได้” แล้วรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[1230] อนึ่ง ภิกษุณีใดผู้ไม่เป็นไข้ออกปากขอเนยใสมาฉัน ภิกษุณีนั้น
พึงแสดงคืนว่า “แม่เจ้า ดิฉันต้องธรรมคือปาฏิเทสนียะ เป็นธรรมที่น่าติเตียน
ไม่เป็นสัปปายะ ดิฉันขอแสดงคืนธรรมนั้น”
เรื่องภิกษุณีเป็นไข้ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :386 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [5.ปาฏิเทสนียกัณฑ์] ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ 1 บทภาชนีย์
สิกขาบทวิภังค์
[1231] คำว่า อนึ่ง ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่า อนึ่ง ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่เป็นไข้ คือ ผู้ขาดเนยใสก็ยังมีความผาสุก
ที่ชื่อว่า ผู้เป็นไข้ คือ ผู้ขาดเนยใสย่อมไม่มีความผาสุก
ที่ชื่อว่า เนยใส ได้แก่ เนยใสที่เกิดจากโค เนยใสจากแพะ เนยใสจากกระบือ
หรือเนยใสของสัตว์ที่มีเนื้อเป็นกัปปิยะ
ภิกษุณีไม่เป็นไข้ ขอเพื่อประโยชน์ตน ต้องอาบัติทุกกฏในขณะที่ขอ รับ
ประเคนมาด้วยตั้งใจว่า “จะฉัน” ต้องอาบัติทุกกฏเพราะได้มา เธอฉัน ต้องอาบัติ
ปาฏิเทสนียะ ทุกๆ คำกลืน

บทภาชนีย์
ติกปาฏิเทสนียะ
[1232] ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ออกปากขอเนยใสมาฉัน
ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ
ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีไม่แน่ใจ ออกปากขอเนยใสมาฉัน ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ
ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นไข้ ออกปากขอเนยใสมาฉัน ต้องอาบัติ
ปาฏิเทสนียะ

ทุกทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ออกปากขอเนยใสมาฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีไม่แน่ใจ ออกปากขอเนยใสมาฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นไข้ ออกปากขอเนยใสมาฉัน ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :387 }